บังคับ 7 ขวบ ทำบัตรประชาชน !

บังคับ9กรกฎาคม 7ขวบทำบัตรปชช.

 

        ประกาศ 9 กรกฎาคมนี้ พ่อแม่ต้องพาเด็กอายุ 7 ปีไปทำบัตรประชาชน นักวิชาการชี้ด้านลบพ่อแม่เด็กลำบาก

เสียเงิน-เวลาพาลูกไปทำบัตร เปิดช่องทุจริตโกงกิน คนต่างด้าวแฝงตัวทำบัตร ครูหยุยเสนอให้เด็กทำใบเหลือง
แทนสมาร์ทการ์ด วอนประชาชนช่วยตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ


        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554
โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2554 สาระสำคัญของกฎหมายคือ
กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน 

        ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่า
ที่ผ่านมาเคยให้เหตุผลคัดค้านมาตลอดว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะบังคับให้เด็กอายุ 7 ปี ทำบัตรประจำตัวประชาชน
กรมการปกครองอ้างจุดประสงค์เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสารสวมสิทธิ์สัญชาติไทยของบุคคลต่างด้าวนั้น
ตนคิดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือ จะเปิดช่องให้มีการทุจริตโกงกินค่าทำบัตรสมาร์ทการ์ด
ของเด็กอายุระหว่าง 7-14 ปีที่มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน


        อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องพาลูกไปทำบัตรประชาชนช่วยกันตรวจสอบการทำงาน
ภาครัฐให้ดี เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและจะมีการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากกลุ่มเด็กต่างด้าวที่แฝงตัวทำบัตรประชาชนกัน
อย่างมาก ส่วนเหตุผลที่บังคับเด็ก 7 ปีทำบัตรประชาชนเพื่อประโยชน์ในการเข้ารับบริการสาธารณะของรัฐนั้น ก็ไม่จำเป็นด้วย
เพราะทุกวันนี้เด็กที่ใช้บริการต่างๆ จากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การเข้าสถานศึกษา ก็สามารถใช้หลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน
หรือสูติบัตรมาแสดงได้อยู่แล้ว

        "ผมคิดว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็อยากเสนอว่าแทนที่จะทำบัตรสมาร์ทการ์ด
ก็ให้เปลี่ยนมาทำใบเหลืองที่ใช้กันอยู่แล้ว เพื่อป้องกันข้อครหาว่าจะมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร
นอกจากนี้ยังควรแก้ไขโทษปรับ 200 บาทสำหรับผู้ไม่ทำตามกฎหมาย ผมเห็นว่าปรับสูงเกินไป
เพราะพ่อแม่เด็กที่ยากจนและไม่มีเวลาพาลูกไปทำบัตรประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน
จึงขอให้แก้ไขโทษปรับลดลงมาเหลือ 5-10 บาทก็พอ" นายวัลลภกล่าว



        ขณะที่ นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า
กฎหมายมีผลบังคับให้เด็กอายุ 7 ปี ทำบัตรประชาชนตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบต่อพ่อแม่เด็กได้รับความลำบาก
ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวอำเภอก็ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำบัตรประชาชน
อีกทั้งหน่วยงานรัฐก็ต้องระดมเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปทำบัตรประชาชน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์สัญชาติไทยได้
เพราะรูปร่างใบหน้าเด็กอายุ 7-14 ปี จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อาจจะต้องกำหนดช่วงเวลาทำบัตรหลายครั้ง



        "ทุกวันนี้เด็กใช้สูติบัตรและทะเบียนบ้านในการขอรับบริการจากรัฐ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ทการ์ด
แต่ควรจะจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรให้รัดกุมมากขึ้น เช่น ถ่ายภาพม่านตาแล้วบันทึกข้อมูลลงในใบเกิด
ซึ่งจะช่วยป้องกันการปลอมเอกสารสวมสิทธิ์ของเด็กต่างด้าวได้ อย่างไรก็ตาม การให้เด็กอายุ 7 ปี
ไปทำบัตรประชาชนไม่ได้กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในกลุ่มเด็กกำพร้าหรือเด็กไร้รากเหง้า เพราะไม่มีหลักฐานเอกสารการเกิดอยู่แล้ว
เด็กกลุ่มนี้จะต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทยให้ได้ก่อนทำบัตรประชาชน" นายสรรพสิทธิ์เผย


        ด้าน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการเรื่องสัญชาติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
กฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงประชากร
ทำให้ฐานข้อมูลในทะเบียนราษฎรแน่นมากขึ้น ส่วนการป้องกันคนต่างด้าวสวมสิทธิ์สัญชาติไทยนั้น
เป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว สำหรับข้อเสียคือ เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตในหน่วยงาน
ราชการทุกระดับอย่างมาก

 
        "สำหรับเด็กไร้รากเหง้าที่ไม่มีใบเกิดนั้น มีกฎหมายให้เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ และใช้ระยะเวลานานหลายปีในการให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย
กฎหมายฉบับนี้ก็จะไม่มีผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว