รับซัมเมอร์แบบไม่ต้องกลัวแดด


     ย่างเข้าสู่เดือน เมษายนซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย สาวๆ หลายคนคงไม่อยากออกจากบ้านไปเจอแสงแดดอันร้อนระอุ แน่นอนค่ะว่าแสงแดดที่ร้อนแรงมีผลต่อผิวสวยๆ ของเราเป็นอย่างมาก เพราะมีรังสีที่เป็นอันตรายต่อผิวของเรา รังสีที่ว่านี้คือ รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ UV-A, UV-B และ UV-C รังสีแต่ละชนิดเป็นอย่างไรและมีผลต่อผิวของเราอย่างไรบ้าง ขออธิบายดังนี้ค่ะ

- UV-C เป็นรังสีที่มีความเข้มมากที่สุดของช่วง UV แต่ถูกดูดกลืนไว้ด้วยโอโซนในชั้นบรรยากาศก่อนถึงพื้นโลก นับเป็นโชคดีของเราและสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ หาไม่แล้วอาจไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อบู่บนโลกใบนี้ก็ได้ รังสีชนิดนี้มีผลต่อร่างกายทำให้ผิวหนังบวมแดงและเกิดการเปลี่ยนแปลงการ สร้างโปรตีน แต่เราก็สามารถนำรังสี UV-C มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น รังสี UV-C ที่ปล่อยจากหลอดเพื่อฆ่าเชื้อโรค (germicidal lamp)
- UV-B ถูกดูดกลืนโดยโอโซนส่วนใหญ่และส่องถึงพื้นโลกบางส่วนเท่านั้น มีผลในการสร้างวิตามินดีในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด ทำให้เกิดปฏิกิริยายับยั้งการสร้างโปรตีนในเซลล์ เกิดการทำลายผิวหนัง มีอาการบวมแดง เกิดแดดเผา (sunburn) ขัดขวางการแบ่งเซลล์และทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
- UV-A ถูกดูดกลืนด้วยโอโซนเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ส่องถึงพื้นโลกได้ แต่มีอันตรายไม่มาก มีความจำเป็นต่อร่างกายในการสังเคราะห์วิตามินดี แต่หากมากเกินไปจะทำให้ผิวหนังหยาบกร้าน ผิวหนังมีสีคล้ำมากขึ้นและแดงชั่วคราว ช่วยเสริมฤทธิ์ UV-B ทำให้เกิดการเผาไหม้ เป็นอันตรายต่อผิวหนังมากขึ้นและทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้แสง
จะเห็นว่าแสงแดดเป็นอันตรายต่อผิวหนังของเราทำให้ผิวคล้ำ แดง ไหม้ หยาบกร้าน เกิดริ้วร้อย ทำให้ผิวแก่เกินวัยและเสื่อมโทรม นอกจากนี้อาจมีโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังได้หากได้รับปริมาณมากเกินไปและยาวนาน ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวถูกแสงแดดโดยตรง หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดๆ เป็นเวลานาน หากจำเป็นก็ต้องหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกปีกกว้าง ร่ม เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย และที่สำคัญควรหาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทาผิวก่อนออกแดดเป็นประจำด้วย เพราะยาหรือครีมกันแดดทาผิว สามารถช่วยลดปริมาณรังสี UV ที่จะมาถึงผิวหนัง ป้องกันอาการไหม้จากแสงแดด และป้องกันมะเร็วผิวหนังได้ด้วย

สำหรับวิธีการเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ถูกวิธีมีดังนี้
1. เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่ามาตรฐานสากล ที่ใช้กำหนดการป้องกันแสงแดด ซึ่งเรียกว่า Sun Protection Factor values หรือ SPF values โดยกำหนดให้ค่า SPF values เท่ากับอัตราส่วนของปริมาณแสงแดดที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นที่ ผิวหนังในบริเวณที่ทายากันแดด ดังนั้น SPF values จะบอกประสิทธิภาพของยากันแดดว่าหลังจากทาแล้วจะสามารถทนต่อแสงแดดได้กี่เท่า สำหรับผิวหนังของคนไทยได้มีการศึกษาวิจัยว่ายากันแดดที่มีค่า SPF values ตั้งแต่ 6-8 ขึ้นไปก็พอเพียงแล้วโดยไม่มีอาการไหม้จากแสงแดด แต่ก็ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
2. เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีประสิทธิภาพทั้ง 2 อย่าง ได้แก่ ป้องกันโดยการสะท้อน (protect by reflection) โดยการใช้สารที่ทำหน้าที่สะท้อนแสงป้องกันไม่ให้รังสี UV ตกถึงผิวหนัง สารที่ทำหน้าที่นี้มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น zinc oxide, titanium dioxide, magnesium carbonate, calcium carbonate และ magnesium dioxide เป็นต้น และป้องกันโดยการดูดกลืน (protection by ultraviolet absorption) โดยสารทำหน้าที่ดูดกลืนรังสี UV ไว้และถ่ายเทพลังงานในรูปของรังสีที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
3. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดให้เหมาะสมกับบริเวณของร่างกาย เช่น ไม่ควรนำยากันแดดที่ใช้ทาตัวมาใช้ทาผิวหน้า เนื่องจากผิวหนังบริเวณใบหน้าเป็นส่วนที่บอบบางกว่า หากนำยากันแดดสำหรับทาตัวมาทาหน้าอาจทำให้ใบหน้าของเราเกิดการระคายเคืองและ เป็นสิวได้
4. การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดในการเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น Water Proof ซึ่งสามารถทนน้ำได้อย่างน้อย 80 นาที โดยประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง และเมื่อออกกำลังกายกลางแจ้งก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่สามารถทนเหงื่อไหล เยิ้มได้ด้วย แต่ยากันแดดบางตัวที่มีสารซอราเล็น (Psoralen) เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

     หากสาวๆ ไม่อยากมีผิวหนังเหี่ยวย่น หรือเกิดริ้วรอยก่อนวัย ก็อย่าลืมทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านนะคะ ดูแลผิวตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้มีผิวที่สวยไปนานๆ อย่าลืมว่าการป้องกันนั้นง่ายกว่าการรักษาเป็นไหนๆ แล้วอีกอย่างอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ ด้วยนะคะ เพราะหน้าร้อนผิวหนังเราจะขับเหงื่อออกมาก ดังนั้นเราต้องดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำของผิวหนังค่ะ...

ข้อมูลจาก lauriermybrand.com